สาระน่ารู้ เรื่องอุโบสถศีล

     อุโบสถศีล เป็นกุศลวิธีที่นำพามนุษย์ไปสู่ สวรรค์มาตั้งแต่มนุษย์ยุคต้นกัป ถ้าเป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เรียกว่า อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งก็หมายถึงรักษาศีล ๘ ในวันพระนั่นเอง ในยุคสมัยที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ผู้ปรารถนา สวรรค์จะชักชวนกันรักษาอุโบสถศีล เพราะถือว่าเป็นอริยประเพณีที่มีมาช้านาน แม้กระทั่งพระเจ้าจักรพรรดิราช  ก่อนจะทรงครองความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ก็ต้องสมาทานอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัดทุกๆ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ อานิสงส์ของอุโบสถศีล
ทำให้ รัตนะทั้ง ๗ ประการ มีจักรแก้ว เป็นต้น บังเกิดขึ้น เป็นของคู่บุญ ทำให้พระองค์ทรงสามารถปกครองโลกให้เกิดสันติสุข ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์

          อุโบสถศีล แปลว่า การเข้าอยู่จำโดยถือศีล ๘ ข้อ วันอุโบสถหรือวันพระนั้น เป็นวันที่เราจะต้อง อยู่เยี่ยงพระ
คือบำเพ็ญเนกขัมมะนั่นเอง ศีลแปดที่รักษากันในวันพระ เรียกว่า อุโบสถศีล ผู้ครองเรือนทั่วไปไม่สะดวกถือศีล ๘ ได้ทุกวัน ก็จะหาโอกาสมาถือศีลกันเฉพาะวันพระเช่นนี้จึงเรียกว่า รักษาอุโบสถศีล

ระยะเวลาของการรักษาอุโบสถศีล

      การรักษาอุโบสถ มี ๓ อย่าง สามารถเลือกรักษาได้ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล คือ

๑. ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษากันเฉพาะวันที่กำหนดไว้ ในปัจจุบันนี้กำหนดเอาวันพระ คือ วัน ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม

๒. ปฏิชาครอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันครั้งละ ๓ วัน โดยการถือเพิ่มการรักษาก่อนกำหนด ๑ วัน เรียกว่า วันรับ และหลังวันกำหนดอีก ๑ วัน เรียกว่า วันส่ง จึงรวมเป็นรักษาคราวละ ๓ วัน คือ วันรับ วันรักษา และวันส่ง รวม ๓ วัน ๓ คืน

๓. ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษาครั้งละหลายๆ วัน เช่น ตลอดพรรษา ๓ เดือนบ้าง ตลอด ๑ เดือนบ้าง
หรือครึ่งเดือนจำนวน ๑๕ วันบ้าง

       ศีลอุโบสถนั้น มีองค์ประกอบทั้งหมด ๘ ข้อ ถ้าขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เรียกว่าศีลอุโบสถตาม พุทธบัญญัติ
เพราะฉะนั้นการล่วงศีลอุโบสถเพียงข้อใดข้อเดียว ก็ถือว่าขาดศีลอุโบสถ พูดง่ายๆ ว่า ขาดศีลข้อเดียวก็ขาดหมดทั้ง ๘ ข้อ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจึงต้องสำรวมระวัง กาย วาจา เป็นพิเศษ

อุโบสถศีล มี ๘ ประการ

อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ มีดังนี้ คือ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป

๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้

๓. อพรหมจริยา เวรมณี งดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อการประพฤติผิดพรหมจรรย์

๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ รวมถึงวจีกรรมในรูปแบบต่างๆ

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้น จากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

๖. วิกาลโภชนา เวรมณี งดเว้นจากการบริโภค อาหารในเวลาวิกาล

๗. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธวิเลปน-ธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี
และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ลูบทาทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่อง ทาอันจัดว่าเป็นการแต่งตัว

๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

      

    เป้าหมายหลักในการรักษาอุโบสถศีลนั้น ก็ เพื่อทำให้จิตใจสงบ ไม่กวัดแกว่งฟุ้งซ่านไปในเรื่องกามารมณ์  แต่ยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถือ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ของคฤหัสถ์ผู้ที่ยังไม่ปรารถนาออกบวช  โดยปกติวันพระ พุทธศาสนิกชน ที่สะดวกก็จะพากันแต่งชุดขาวไปสมาทานอุโบสถศีล และฟังธรรมที่วัด แล้วพักอาศัยอยู่ที่วัด จนกว่าจะครบกำหนด ถ้าไม่ได้ไปวัด ก็จะตั้งใจสมาทานศีล ด้วยตนเอง จะเปล่งวาจาสมาทานหรือเพียงแต่ตั้งเจตนาไว้ก็ได้ทั้งนั้น

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส อุปมาถึงอานิสงส์ ของการรักษาอุโบสถศีลไว้ว่า ถ้าจะนำมาเปรียบกับสมบัติของพระราชา ที่แม้จะครองความเป็นใหญ่ถึง ๑๖ แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวของผลบุญอันเกิดจากการ รักษาอุโบสถเลย เพราะสมบัติมนุษย์
เป็นสมบัติ หยาบเหมือนสมบัติของคนกำพร้า มีความสุขได้ไม่กี่ร้อยปีก็ต้องพลัดพรากซึ่งเทียบไม่ได้กับการได้เสวย
ทิพยสมบัติอันยาวนานในสวรรค์ที่เกิดจากอานิสงส์ของการรักษาอุโบสถ

 

        การรักษาอุโบสถศีลนี้ แม้ว่าจะมีโอกาสรักษาได้ไม่นาน แต่กลับสามารถส่งผลให้มีอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาดได้
ดังเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัยพุทธกาล เรื่องมีอยู่ว่า

ชายหาฟืนรักษาศีลครึ่งวัน

        ในสมัยพุทธกาล คนงานในบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำหน้าที่เป็นคนหาฟืน ต่อมาเมื่อถึงวันอุโบสถ
เขาลุกขึ้นไปทำงานหาฟืนแต่เช้าตรู่ เมื่อกลับมาจากป่าในยามบ่ายเห็นคนในบ้านรักษาอุโบสถศีลกันทุกคน โดยการงด
อาหารหลังเที่ยงเป็นต้นไป เนื่องจากตัวเองเพิ่งสมัครเข้ามาทำงาน จึงไม่รู้ธรรมเนียมของบ้านหลังนี้ ได้ถามบริวารของ
ท่านเศรษฐีว่า"ทำไมในวันนี้ ทุกคนในบ้านเงียบผิดปกติ และก็ดูเหมือนว่าจะเตรียมอาหาร ไว้ให้กระผมคนเดียว"

        บริวารตอบว่า "วันนี้เป็นวันพระ ทุกคนใน เรือนนี้หยุดงานเพื่อรักษาอุโบสถศีลกัน แม้เด็กที่ยังดื่มนมอยู่
ู่ ท่านเศรษฐีก็ให้ดื่มปานะ เพื่อฝึกให้เด็กรักษาอุโบสถศีลตั้งแต่เล็กๆท่านเศรษฐีจึงสั่งให้ฉันจัดอาหารมาเพื่อนาย
คนเดียวเท่านั้น" หนุ่มหาฟืนคิดว่า "ถ้าเราได้รักษาอุโบสถบ้าง ก็น่าจะดีไม่น้อย" จึงถามท่านเศรษฐี "ท่านเศรษฐี
ถ้ากระผมเองจะรักษาอุโบสถศีลเพียงครึ่งวัน จะได้บุญบ้างไหม

"ท่านเศรษฐีก็บอกว่า "ได้สิ แต่มันก็ได้ไม่เท่าคนที่เขารักษาทั้งวันหรอกนะ" เมื่อรู้ว่า นี่คือบุญพิเศษ ที่เราไม่ควรพลาด จึงได้สมาทานอุโบสถศีลด้วยความเต็มใจ แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน จึงหิวข้าวมากเพราะกรำงานตลอดทั้งวัน
พอตกกลางคืน เกิดลมตีท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด รู้สึกทรมาน มาก จึงเอาเชือกรัดท้องให้แน่นๆ เพื่อระงับอาการปวดท้อง
แต่ก็ไม่หายปวด

 

         เมื่อเศรษฐีทราบเรื่องเข้า จึงเอาน้ำอ้อยมาให้กินเพื่อระงับอาการปวดท้อง แต่หนุ่มหาฟืนก็ปฏิเสธ เพราะไม่อยากให้ศีล
ด่างพร้อย แม้ท่านเศรษฐีจะ คอยบอกเตือนว่า "อย่าทรมานตัวเองเลย วันพระไม่ได้มีหนเดียว เอาไว้รักษาวันพระหน้าก็ได้" แต่
เขาก็ไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมตกบุญ ได้นอนนึกถึงอุโบสถศีลที่ตัวเองได้เต็มใจรักษาอย่างเอาชีวิตเป็น เดิมพัน ความปลื้มปีติได้ ้ช่วยข่มความเจ็บปวดเอาไว้ แต่สังขารไม่อาจทนทานเอาไว้ได้ พอรุ่งเช้าปรากฏว่า ได้ละจากโลกนี้ด้วยจิตที่ผ่องใส แล้วได้มาเกิดเป็นรุกขเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ที่ต้นไทรแห่งหนึ่ง

อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล

         จะเห็นได้ว่า เพียงการรักษาอุโบสถครึ่งวันและทำด้วยความเต็มใจ ยังได้อานิสงส์ขนาดนี้ แล้วถ้าหากใครได้รักษาอย
ู่เนืองนิตย์อานิสงส์นั้นพรรณนา อย่างไรก็ไม่หมด เป็นบุญใหญ่ที่จะนำพาให้ได้สวรรค์สมบัติ เวียนวนอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ จะถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ในที่สุดจะได้นิพพานสมบัติ เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจะได้รับอานิสงส์มากมายเกินควรเกินคาด อย่างน้อยๆ ก็สามารถแบ่งออกเป็น ๕ ข้อ คือ
๑. ย่อมได้รับโภคทรัพย์ใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ

๒. เกียรติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปไกล

๓. ผู้มีศีลเข้าไปสู่สมาคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน

๔. ผู้มีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ คือ ไม่หลงเผลอสติในเวลาตาย

๕. ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทพ

        นอกจากนี้ ศีล ยังเป็นบาทเบื้องต้นแห่งสมาธิ ทำให้ใกล้ต่อมรรคผลนิพพาน ดังนั้นคนที่ตั้งใจรักษาศีลได้บริสุทธิ์ก็จะมีผลต่อ
การนั่งสมาธิไปด้วย ดังนั้น พุทธศาสนิกชนที่ดีก็ควรที่จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทั้งยังต้องเป็นกัลยาณมิตรชักชวนคนรอบ
ข้างมาสั่งสมบุญใหญ่ ที่เกิดจากการรักษาอุโบสถศีล เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไป

        บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าผู้มีศีลเป็นอาภรณ์ ผู้มีศีลย่อมติเตียนตนเองไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงศีลที่บริสุทธิ์ ย่อมเกิดปีติทุกเมื่อ

         ศีลจึงเป็นรากฐานแห่งความดีทุกอย่างและกำจัดความชั่วทั้งปวง......สาธุ

 

 

Visitors: 116,085