กะระณียะเมตตะสุตตัง

      ตำนานของเมตตปริตร

      

       เมตตปริตร คือ ปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูป เรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว เดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้มาถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจอยู่จำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธาสร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหลัง และอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน

เมื่อฝนตกพวกท่านจะเจริญกรรมฐานที่กุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่สามารถอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพาบุตรธิดาลงมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดสามเดือน จึงเกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้น จึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ

พวกภิกษุหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ต่อไป ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น จากนั้นจึงรีบเดินทางกลับไปโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตรเพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา
เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า พวกท่านได้เจริญเมตตาโดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆ อีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนา ทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้น (สุตตนิ. อฏ. ๑/๒๒๑, ขุททก. อฏ. ๒๒๕)

เมตตปริตรในหนังสือนี้ต่างจากบทสวดมนต์ฉบับไทยกับฉบับลังกาในบางที่ผู้แปลเลือกใช้ฉบับพม่าที่เรียกว่า ฉบับฉัฏฐสังคีติ (ฉบับสังคายนาครั้งที่ ๖) ซึ่งเป็นฉบับที่พระภิกษุในนิกายเถรวาท ๕ ประเทศ คือ ไทย ลังกา พม่า ลาว และเขมร ได้ร่วมกันสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และมีมติเป็นสมานฉันท์ร่วมกัน

เมตตปริตรนี้เป็นคีติคาถาที่จัดอยู่ในหมวดมาตราพฤติ ฉบับพม่าเป็นฉบับที่ถูกต้องตามกฏนั้น แต่ฉบับไทยกับลังกาไม่ตรงตามฉันทลักษณ์และหลักไวยากรณ์บาลี (ผู้เขียนจะอธิบายเรื่องนี้ในบทเพิ่มเติมท้ายเล่ม) อนึ่ง ท่านอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ได้เล่าว่า แม้พระเถระชาวลังกาผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี คือท่านพระพุทธทัตตเถระ อัครมหาบัณฑิต วัดอัคคาราม จังหวัดบาลังโกดา ประเทศศรีลังกา ก็เคยปรารภเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ กับท่านอาจารย์ว่า เมตตปริตรฉบับพม่าถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆ


คำแปล

 

กิจอันใดอันพระอริยเจ้า บรรลุบท กระทำบำเพ็ญแล้ว กิจอันนั้น กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์พึงกระทำบำเพ็ญ กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง เป็นผู้ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจธุระน้อย ประพฤติ เบากายจิต เป็นผู้มีอินทรีย์อันสงบระงับแล้ว มีปัญญา เป็นผู้ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย วิญญูชน ติเตียนชนอื่น  ทั้งหลายได้ด้วยกรรมอันใด ไม่พึงประพฤติกรรมอันนั้นเลย ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ ยังเป็นผู้สะดุ้ง (คือมีตัณหา) หรือเป็นผู้มั่นคง (ไม่มีตัณหา) ทั้งหมดไม่เหลือ เหล่าใดเป็นทีฆชาติหรือโตใหญ่ หรือปานกลาง หรือต่ำเตี้ย หรือผอม หรืออ้วนพี เหล่าใดที่เราเห็นแล้ว หรือมิได้ เห็นก็ดี เหล่าใดอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ดี ที่เกิดแล้ว หรือกำลังแสวงหาภพอยู่ก็ดี ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นไม่พึงข่มเหงสัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรๆ เขา ในที่ใดๆ เลย ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่ กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ หรือความคุมแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยยอมสละชีวิตของตนได้ฉันใด พึงเจริญเมตตา มีในใจ ไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งหลาย แม้ฉันนั้น บุคคลพึงเจริญเมตตา มีในใจ ไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง เป็นธรรมอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น ยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี นั่งแล้วก็ดี นอนแล้วก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด ก็ตั้งสติอันนั้นไว้เพียงนั้น บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวกิริยาอันนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในพระศาสนานี้ บุคคลผู้มีเมตตา ไม่เข้ายึดถือทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ ( คือโสดาปัตติมรรค ) นำความหมกมุ่นในกามทั้งหลายออก ย่อมไม่ถึงความนอน(เกิด) ในครรภ์อีก โดยแท้ทีเดียว

 



 


Visitors: 116,085