สุวรรณสามชาดก

ทศชาติชาดก เรื่อง สุวรรณสามชาดก

บำเพ็ญ เมตตาบารมี

 

 

ในอดีตกาล ณ ที่ไม่ไกลแต่กรุงพาราณสี มีบ้านนายพรานบ้านหนึ่งริมฝั่งนี้แห่งแม่น้ำ และมีบ้านนายพรานอีกบ้านหนึ่งริมฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ ในบ้านแห่งหนึ่ง ๆ มีตระกูลประมาณห้าร้อยตระกูล นายเนสาทผู้เป็นใหญ่สองคนในบ้านทั้งสองเป็นสหายกัน ในเวลาที่ยังหนุ่มอยู่ เขาได้ทำกติกาสัญญากันอย่างนี้ว่า ถ้าข้างหนึ่งมีธิดา ข้างหนึ่งมีบุตร เราจักทำอาวาหวิวาทมงคลแก่บุตรธิดาเหล่านั้น ลำดับนั้น ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่ในบ้านริมฝั่งนี้คลอดบุตร บิดามารดาให้ชื่อว่า ทุกูลกุมาร เพราะกุมารนั้นอันญาติทั้งหลายรองรับด้วยทุกูลพัสตร์ในขณะเกิด ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่อีกคนหนึ่งคลอดธิดา บิดามารดาให้ชื่อว่า ปาริกากุมารีเพราะนางเกิดฝั่งโน้น กุมารกุมารีทั้งสองมีรูปงามน่าเลื่อมใสมีผิวพรรณดังทองคำ แม้เกิดในสกุลนายพรานก็ไม่ทำปาณาติบาต

กาลต่อมา เมื่อทุกูลกุมารมีอายุได้สิบหกปี บิดามารดาพูดว่า จะนำกุมาริกามาเพื่อเจ้า แต่ทุกูลกุมารมาแต่พรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์ จึงปิดหูทั้งสองกล่าวว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ฉันไม่ต้องการอยู่ครองเรือน โปรดอย่าได้พูดอย่างนี้ แม้บิดามารดาพูดอยู่ถึงสองครั้งสามครั้ง ก็ไม่ปรารถนา ฝ่ายปาริกากุมารีแม้บิดามารดาพูดว่า แน่ะแม่ บุตรของสหายเรามีอยู่ เขามีรูปงามน่าเลื่อมใสมีผิวพรรณดั่งทองคำ เราจักให้ลูกแก่เขา นางปาริกาก็กล่าวห้ามอย่างเดียวกัน แล้วปิดหูทั้งสองเสีย เพราะนางมาแต่พรหมโลกเป็นสัตว์บริสุทธิ์ ในคราวนั้น ทุกูลกุมารส่งข่าวลับไปถึงนางปาริกาว่า ถ้าปาริกามีความต้องการด้วยเมถุนธรรม ก็จงไปสู่เรือนของบุคคลอื่น ฉันไม่มีความพอใจในเมถุน แม้นางปาริกาก็ส่งข่าวลับไปถึงทุกูลกุมารเหมือนกัน แต่บิดามารดาได้กระทำอาวาหวิวาหมงคล แก่กุมารกุมารีทั้งสองผู้ไม่ปรารถนาเรื่องประเวณีเลย เขาทั้งสองมิได้หยั่งลงสู่สมุทรคือกิเลส อยู่ด้วยกันเหมือนมหาพรหมสององค์ ฉะนั้น ฝ่ายทุกูลกุมารไม่ฆ่าปลาหรือเนื้อ โดยที่สุดแม้เนื้อที่บุคคลนำมา ก็ไม่ขาย ลำดับนั้น บิดามารดาพูดกะเขาว่า แน่ะพ่อ เจ้าเกิดในสกุลนายพราน ไม่ปรารถนาอยู่ครองเรือน ไม่ทำการฆ่าสัตว์ เจ้าจักทำอะไร ทุกูลกุมาร กล่าวตอบอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ เมื่อท่านทั้งสองอนุญาตเราทั้งสองก็จักบวช บิดามารดาได้ฟังดังนั้น จึงอนุญาตว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งสองจงบวชเถิด ทุกูลกุมารและปาริกากุมารีก็ยินดีร่าเริง ไหว้บิดามารดาแล้วออกจากบ้าน เข้าสู่หิมวันตประเทศทางฝั่งแม่น้ำคงคา โดยลำดับ ละแม่น้ำคงคามุ่งตรงไปแม่น้ำมิคสัมมตา ซึ่งไหลลงมาแต่หิมวันตประเทศถึงแม่น้ำคงคา 

ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบการณ์นั้น จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสว่า แน่ะพ่อวิสสุกรรม ท่านมหาบุรุษทั้งสองออกจากบ้านใคร่จะบวชเป็นฤๅษี เข้าสู่หิมวันตประเทศ ควรที่ท่านทั้งสองนั้นจะได้ที่อยู่ ท่านจงเนรมิตบรรณศาลา และบรรพชิตบริขารเพื่อท่านทั้งสองนั้น ณ ภายในกึ่งเสียงกู่ ตั้งแต่มิคสัมมตานที เสร็จแล้วกลับมา

พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวบัญชาแล้ว ไปจัดกิจทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วในมูคปักขชาดก ไล่เนื้อและนกที่มีสำเนียง ไม่เป็นที่ชอบใจให้หนีไป แล้วเนรมิตมรรคาเดินผู้เดียว แล้วกลับไปที่อยู่ของตน

กุมารกุมารีทั้งสองเห็นทางนั้น แล้วก็เดินไปตามทางนั้นถึงอาศรมบท ทุกูลบัณฑิตเข้าสู่บรรณศาลา เห็นบรรพชิตบริขารก็ทราบสักกทัตติยภาพว่า ท้าวสักกะประทานแก่เรา จึงเปลื้องผ้าสาฎก ออกนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือบนบ่า ผูกมณฑลชฎาทรงเพศฤๅษีแล้วให้นางปาริกาบวชเป็นฤๅษิณี ฤๅษี ฤๅษิณีทั้งสององค์นั้น เจริญเมตตาภูมิกามาพจรอาศัยอยู่ในที่นั้น แม้ฝูงเนื้อและนกทั้งปวง ก็กลับได้เมตตาจิตต่อกันและกัน ด้วยอานุภาพเมตตาแห่งดาบสดาบสินีทั้งสองนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้นไม่มีสัตว์ไร ๆ เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ เลย ฝ่ายปาริกาดาบสินีลุกขึ้นแต่เช้าตั้งน้ำดื่มและของฉันแล้วกวาดอาศรมบททำกิจทั้งปวง ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น นำผลไม้เล็กใหญ่มาฉัน แล้วเข้าสู่บรรณศาลาของตน ๆ เจริญสมณธรรม สำเร็จการอยู่ในที่นั้นนั่นแล

ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาสู่ที่บำรุงแห่งพระมุนีทั้งสองนั้น วันหนึ่งพระองค์ทรงพิจารณาเห็นอันตรายแห่งพระมุนีทั้งสองนั้นว่า จักษุทั้งสองข้างของท่านทั้งสองนี้จักมืด จึงลงมาจากเทวโลกเข้าไปหาทุกูลบัณฑิต นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันตรายจะปรากฏแก่ท่านทั้งสอง ควรที่ท่านทั้งสองจะได้บุตรไว้สำหรับปฏิบัติท่าน ขอท่านทั้งสองจงเสพโลกธรรม

ทุกูลบัณฑิตได้สดับคำของท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวว่า ดูก่อนท้าวสักกะ พระองค์ตรัสอะไร เราทั้งสองแม้อยู่ท่ามกลางเรือนก็หาได้เสพโลกธรรมไม่ เราทั้งสองละโลกธรรมนี้ เกลียดดุจกองคูถอันเต็มไปด้วยหนอน ก็บัดนี้เราทั้งสองเข้าป่าบวชเป็นฤๅษี จักกระทำกรรมเช่นนี้อย่างไรได้

ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องทำอย่างนั้น เป็นแต่เอามือลูบท้องปาริกาดาบสินีเวลานางมีระดู

ทุกูลบัณฑิตรับว่า อย่างนี้อาจทำได้

ท้าวสักกเทวราช นมัสการทุกูลดาบสแล้วกลับไปที่อยู่ของตน ฝ่ายทุกูลบัณฑิตก็บอกนางปรริกาให้รู้ตัว แล้วเอามือลูบท้องนาง ในเวลาที่นางมีระดู

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องนางปาริกาฤๅษีณี กาลล่วงไปได้สิบเดือน นางคลอดบุตรมีผิวพรรณดั่งทองคำ ด้วยเหตุนั้นเอง บิดามารดาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุวรรณสามกุมาร

เวลาที่ปาริกาดาบสินี ไปป่าเพื่อหามูลผลาผล นางกินรีทั้งหลายที่อยู่ภายในบรรพต ได้ทำหน้าที่นางนม ดาบสดาบสินีทั้งสองสรงน้ำพระโพธิสัตว์แล้วให้บรรทมในบรรณศาลาแล้วพากันไปหาผลไม้เล็กใหญ่ ในขณะนั้น นางกินรีทั้งหลาย อุ้มกุมารไปสรงน้ำที่ซอกเขาเป็นต้น แล้วขึ้นสู่ยอดบรรพต ประดับด้วยบุปผชาติต่าง ๆแล้วฝนหรดาลและมโนศิลาเป็นต้นที่แผ่นศิลา ประให้เป็นเม็ดที่นลาตแล้วนำมาให้ไสยาสน์ในบรรณศาลา ฝ่ายนางปาริกากลับมาก็ให้บุตรดื่มนม

กาลต่อมา บิดามารดาปกปักรักษาบุตรนั้น จนมีอายุได้สิบหกปี ให้นั่งอยู่ในบรรณศาลา ตนเองพากันไปป่าเพื่อหามูลผลาผลในป่า ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า อันตรายอะไร ๆ จะพึงมีแก่บิดามารดาของเรา ในกาลบางคราว จึงทรงสังเกตทางที่บิดามารดาไป

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อดาบสดาบสินีทั้งสองนำมูลผลาผลในป่ากลับมาในเวลาเย็น ถึงที่ใกล้อาศรมบท มหาเมฆตั้งขึ้นฝนตก ท่านทั้งสองจึงเข้าไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่ง ยืนอยู่บนยอดจอมปลวก อสรพิษมีอยู่ภายในจอมปลวกนั้นน้ำฝนเจือกลิ่นเหงื่อจากสรีระของสองท่านนั้น ไหลลงเข้ารูจมูกแห่งอสรพิษนั้น มันโกรธ พ่นลมในจมูกออกมา ลมในจมูกนั้นถูกจักษุทั้งสองข้างแห่งดาบสและดาบสินีนั้น ทั้งสองท่านก็เป็นคนจักษุมืดไม่เห็นกันและกัน เพราะลมนั้น ทุกูลบัณฑิตเรียกนางปาริกามาบอกว่า ปาริกา จักษุทั้งสองของฉันมืด ฉันมองไม่เห็นเธอ แม้นางปาริกา ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งสองมองไม่เห็นทางก็ยืนคร่ำครวญอยู่ด้วยเข้าใจว่า บัดนี้ชีวิตของเราทั้งสองไม่มีละ ก็ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น มีบุรพกรรมเป็นอย่างไร ได้ยินว่า ท่านทั้งสองนั้นในปางก่อนเกิดในสกุลแพทย์ ครั้งนั้น แพทย์นั้นรักษาโรคในจักษุของบุรุษมีทรัพย์มากคนหนึ่ง บุรุษนั้นจักษุหายดีแล้ว ไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาอะไร ๆ แก่แพทย์นั้น แพทย์โกรธเขา ไปสู่เรือนแจ้งแก่ภริยาของตนว่า ที่รัก ฉันรักษาโรคในจักษุของบุรุษนั้นหาย บัดนี้เขาไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาแก่ฉัน เราจะทำอย่างไรดี

ฝ่ายภริยาได้สดับสามีกล่าวก็โกรธ จึงกล่าวว่าเราไม่ต้องการทรัพย์ที่มีอยู่ของมัน ท่านจงประกอบยาขนานหนึ่งให้มันหยอดทำจักษุทั้งสองของมันให้บอดเสียเลย สามีเห็นชอบด้วย จึงออกจากเรือนไปหาบุรุษนั้น ได้กระทำตามนั้น บุรุษผู้มีทรัพย์มากคนนั้น ไม่นานนักก็กลับจักษุมืดไปอีก ดาบสและดาบสินีทั้งสองมีจักษุมืดด้วยบาปกรรมอันนี้

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า บิดามารดาของเรา ในวันอื่น ๆ เคยกลับเวลานี้ บัดนี้เราไม่รู้เรื่องราวของท่านทั้งสองนั้น จึงเดินสวนทางร้องเรียกหาไป ท่านทั้งสองนั้นจำเสียงบุตรได้ก็ขานรับ แล้วกล่าวห้ามด้วยความรักในบุตรว่า มีอันตรายในที่นี้ อย่ามาเลยลูก

พระมหาสัตว์ตอบท่านทั้งสองว่าถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งสองจงจับปลายไม้เท้านี้มาเถิด แล้วยื่นไม้เท้ายาวให้ท่านทั้งสองจับ ท่านทั้งสองจับปลายไม้เท้าแล้วมาหาบุตร พระมหาสัตว์ถามว่าจักษุของท่านทั้งสองมืดไปด้วยเหตุอะไร บิดามารดาทั้งสองก็เล่าให้พระมหาสัตว์ผู้บุตรฟังว่า ลูกรัก เมื่อฝนตก เราทั้งสองยืนอยู่บนยอดจอมปลวกที่โคนไม้ในที่นี้ จักษุทั้งสองมืดไปด้วยเหตุนั้น พระมหาสัตว์ได้สดับคำของบิดามารดาก็รู้ว่าอสรพิษมีในจอมปลวกนั้น อสรพิษนั้นขัดเคืองปล่อยลมในจมูกออกมา พระมหาสัตว์เห็นบิดามารดาแล้วร้องไห้และหัวเราะ บิดามารดาจึงถามว่าทำไมถึงร้องไห้ และหัวเราะ

พระมหาสัตว์ตอบว่า ข้าพเจ้าร้องไห้ ด้วยเสียใจว่าจักษุของท่านทั้งสองพินาศไป ในเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่ แต่ข้าพเจ้าหัวเราะด้วยดีใจว่า ข้าพเจ้าจักได้ปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองในบัดนี้ ขอท่านทั้งสองอย่าได้คิดอะไรเลย ข้าพเจ้าจักปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองให้ผาสุก พระมหาสัตว์ปลอบโยนให้บิดามารดาทั้งสองเบาใจ แล้วนำมาอาศรมบท ผูกเชือกเป็นราวในที่ทั้งปวงสำหรับบิดามารดาทั้งสองนั้น คือที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม บรรณศาลา ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นับแต่นั้นมา ให้บิดามารดาอยู่ในอาศรมบท ไปนำมูลผลาผลในป่ามาเองตั้งไว้ในบรรณศาลา กวาดที่อยู่ของบิดามารดาแต่เช้าทีเดียว ไหว้บิดามารดาแล้วถือหม้อน้ำไปสู่มิคสัมมตานทีนำน้ำดื่มมา แต่งตั้งของฉันไว้ ให้ไม้สีฟันและน้ำบ้วนปากเป็นต้น ให้ผลาผลที่มีรสอร่อย เมื่อบิดามารดาบริโภคแลบ้วนปากแล้ว ตนเองจึงบริโภคผลาผลที่เหลือ เสร็จกิจบริโภคแล้วไหว้ลาบิดามารดา มีฝูงมฤคแวดล้อมเข้าป่าเพื่อต้องการหาผลาผล เหล่ากินนรที่เชิงบรรพต แวดล้อมพระโพธิสัตว์ช่วยเก็บผลาผลให้พระโพธิสัตว์ เวลาเย็นพระโพธิสัตว์กลับมาอาศรม เอาหม้อตักน้ำมาตั้งไว้ ต้มน้ำให้ร้อนแล้วอาบและล้างเท้าบิดามารดาตามอัธยาศัย นำกระเบื้องถ่านเพลิงมาให้ผิง เช็ดมือเท้าของบิดามารดา เมื่อบิดามารดานั่งแล้วก็ให้บริโภคผลาผล ส่วนตนเองบริโภคเมื่อบิดามารดาบริโภคเสร็จแล้ว จัดวางผลาผล ที่เหลือไว้ในอาศรมบท พระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาโดยทำนองนี้ทีเดียว

สมัยนั้น พระราชาพระนามว่า ปิลยักขราช เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์ทรงโลภเนื้อมฤค จึงมอบราชสมบัติให้พระชนนีปกครอง ผูกสอดราชาวุธห้าอย่างเข้าสู่หิมวันตประเทศ ทรงฆ่ามฤคทั้งหลายเสวยเนื้อ เสด็จถึงมิคสัมมตานที แล้วถึงท่าที่สุวรรณสามพระโพธิสัตว์ตักน้ำโดยลำดับ ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้ามฤค ก็ทรงทำซุ้มด้วยกิ่งไม้มีสีเขียวโก่งคันศรสอดลูกศรอาบยาพิษ ประทับนั่งเตรียมอยู่ในซุ้มนั้น

ฝ่ายพระมหาสัตว์นำผลาผลมาในเวลาเย็น วางไว้ในอาศรมบท ไหว้บิดามารดาลาไปตักน้ำถือหม้อน้ำมีฝูงมฤคแวดล้อม ให้มฤคสองตัวเดินเคียงกัน วางหม้อน้ำดื่มบนหลังมฤคทั้งสองมือประคองไปสู่ท่าน้ำ ฝ่ายพระราชาประทับอยู่ในซุ้ม ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ดำเนินมา ทรงคิดว่า เราเที่ยวมาในหิมวันตประเทศตลอดกาลถึงเพียงนี้ ยังไม่เคยเห็นมนุษย์ ผู้นี้จะเป็นเทวดาหรือนาคหนอ ถ้าเราจักเข้าไปไต่ถามผู้นี้ ถ้าเป็นเทวดาก็จักเหาะขึ้นสู่อากาศ ถ้าเป็นนาคก็จักดำดินไป แต่เราจะเที่ยวอยู่ในหิมวันตประเทศตลอดกาลทั้งปวงก็หาไม่ ถ้าเรากลับพาราณสี อำมาตย์ทั้งหลายจักถามเราว่า เมื่อพระองค์อยู่ในหิมวันตประเทศได้ทอดพระเนตรเห็นอะไรอัศจรรย์บ้าง เราจักกล่าวว่าได้เคยเห็นสัตว์เช่นนี้ เขาก็จักถามว่า สัตว์นั้นชื่ออะไร ถ้าเราจักตอบว่า ไม่รู้จัก เขาก็จักติเตียนเรา เพราะเหตุนั้น เราจักยิงผู้นี้ทำให้ทุรพลแล้วจึงถามเรื่อง ลำดับนั้น ในเมื่อฝูงมฤคนั้นลงดื่มน้ำแล้วขึ้นก่อน พระโพธิสัตว์จึงค่อย ๆ ลงราวกะพระเถระผู้มีวัตรอันเรียนแล้ว อาบน้ำระงับความกระวนกระวายแล้วขึ้นจากน้ำ นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เอาหนังเสือพาดเฉวียงบ่า ยกหม้อน้ำขึ้นเช็ดน้ำแล้ววางบนบ่าซ้าย ก็ในกาลนั้น พระราชาทรงคิดว่า บัดนี้เป็นสมัยที่จะยิง จึงยกลูกศรอาบยาพิษนั้นขึ้นยิงพระโพธิสัตว์ถูกข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย ฝูงมฤครู้ว่าพระมหาสัตว์ถูกยิง ตกใจกลัวหนีไป

ฝ่ายสุวรรณสามบัณฑิตแม้ถูกยิง ก็ประคองหม้อน้ำไว้โดยปกติ ตั้งสติค่อย ๆ วางหม้อน้ำลง คุ้ยเกลี่ยทรายตั้งหม้อน้ำ กำหนดทิศหันศีรษะไปทางทิศาภาคเป็นที่อยู่ของบิดามารดา เป็นดุจสุวรรณปฏิมานอนบนทรายมีพรรณดั่งแผ่นเงิน ตั้งสติกล่าวว่า ชื่อว่าบุคคลผู้มีเวรของเราในหิมวันตประเทศนี้ย่อมไม่มี บุคคลผู้มีเวรของบิดามารดาของเราก็ไม่มี กล่าวดังนี้แล้วถ่มโลหิตในปาก ไม่เห็นพระราชาเลย เมื่อจะถามจึงกล่าวว่า ใครหนอยิงเราผู้มัวประมาทไม่ตั้งสติในการเจริญเมตตา ผู้กำลังแบกหม้อน้ำไปตักน้ำที่มิคสัมมตานที ด้วยลูกศร กษัตริย์ พราหมณ์  แพศย์ คนไหนยิงเราแล้วแอบอยู่ในพุ่มไม้ เนื้อของเราก็กินไม่ได้ หนังในสรีระของเรา ก็ไม่มีประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย  เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่ยิงนี้ยิงเราด้วยเหตุอะไรหนอ ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ดูกรสหาย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเถิด ท่านยิง เราแล้วแอบอยู่ทำไมเล่า ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็ได้นิ่งอยู่

พระราชาทรงสดับดังนั้น ทรงดำริว่า บุรุษนี้แม้ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษล้มแล้ว ก็ไม่ด่าไม่ตัดพ้อเรา เรียกหาเราด้วยถ้อยคำที่น่ารัก ดุจบุคคลจับฟั้นหัวใจ เราจักไปหาเขา แล้วเสด็จไปประทับยืนในที่ใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วตรัสว่า

ได้ยินว่าพระเจ้าปิลยักษ์นั้นมีพระดำริอย่างนี้ว่า เทวดาก็ตามนาคก็ตาม ย่อมพูดภาษามนุษย์ได้ทั้งนั้น เราไม่รู้จักผู้นี้ว่าเป็นเทวดา หรือนาค หรือมนุษย์ ถ้าเขาโกรธ จะทำให้พินาศได้ เมื่อกล่าวถึงเราว่า เป็นพระราชา ใคร ๆ ที่ไม่กลัวย่อมไม่มี เพราะเหตุดังนี้นั้น เพื่อจะให้รู้ว่าพระองค์เป็นพระราชา จึงได้ตรัสก่อนว่า

เราเป็นพระราชาของชนชาวกาสี ชนทั้งหลายเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักข์ เราละแว่นแคว้นมาเที่ยวแสวงหามฤคเพราะความโลภเนื้อมฤค เราเที่ยวไปในป่าผู้เดียวเท่านั้น

อนึ่ง เราเป็น ผู้ฉลาดในธนูศิลป์ เป็นผู้สามารถโก่งและลดซึ่งธนูอันหนัก คือธนูหนักพันแรงคนยกได้ปรากฏว่าแม่นยำ หนักแน่น แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเรา ก็ไม่พึงพ้นไปได้ถึงเจ็ดก้าว ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ขอท่านจงบอกนามและโคตรของบิดาท่าน และตัวของท่านเถิด

พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราบอกว่า เราเป็นเทวดานาค ยักษ์ กินนร หรือเป็นกษัตริย์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง พระราชานี้ย่อมเชื่อคำของเรา เราควรกล่าวความจริงเท่านั้น ดำริฉะนี้แล้วจึงทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของฤๅษีผู้เป็นบุตรของนายพราน ญาติทั้งหลายเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สามะ วันนี้ ข้าพระองค์ ตกอยู่ในปากแห่งมรณะนอนอยู่อย่างนี้  ถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรอันใหญ่ซาบยาพิษ เหมือนมฤคที่ถูกพรานป่ายิงแล้ว

ข้าแต่พระราชา  เชิญพระองค์ทอด พระเนตร ข้าพระองค์ผู้นอนเปื้อนโลหิตของตน เชิญทอดพระเนตรดู ลูกศรอันแล่นเข้าข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย ข้าพระองค์กำลังบ้วนเลือดอยู่ เป็นผู้กระสับกระส่าย ขอทูลถามพระองค์ว่า พระองค์ยิงข้าพระองค์แล้ว จะแอบอยู่ทำไม เสือเหลืองถูกเขาฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกเขาฆ่าเพราะงา เมื่อเป็นอย่างนี้ พระองค์เข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์อันพระองค์ควรยิง ด้วยเหตุไรหนอ

พระราชาทรงสดับคำของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ตรัสบอกตามจริง เมื่อจะตรัสคำเท็จจึงตรัสว่า

ดูก่อนสามะ มฤคปรากฏแล้วต่อหน้าเราในระยะลูกศร แต่ครั้นเห็นท่านเข้าก็หนีไป เพราะเหตุนั้น เราจึงเกิดความโกรธ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่พระองค์ตรัสอะไร ขึ้นชื่อว่ามฤคที่เห็นข้าพระองค์แล้วหนีไป ไม่มีในหิมวันตประเทศนี้ แล้วทูลว่า

นับแต่ข้าพระองค์จำความได้ รู้จักถูกและผิด นุ่งผ้าเปลือกไม้ตั้งอยู่ในปฐมวัย ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ย่อมไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์ ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่มฤคทั้งหลายจงยกไว้ก่อน ธรรมดากินนรทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ขลาดอย่างยิ่ง กินนรเหล่าใดอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์นี้ กินนรแม้เหล่านั้นเห็นข้าพระองค์แล้วย่อมไม่สะดุ้งกลัว พวกเราชื่นชมต่อกันและกัน ไปตามป่าเขาลำเนาไพรโดยแท้แล. เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรหนอ ฝูงมฤคจึงสะดุ้งกลัวข้าพระองค์

พระราชาได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เรายิงสุวรรณสามผู้ไร้ความผิดนี้แล้วยังกล่าวมุสาวาทอีก เราจักกล่าวคำจริงเท่านั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า

ดูกรพ่อสามะ  เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่ เรากล่าวเท็จแก่ท่านดอก เราเป็นผู้อันความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว จึงยิงท่านด้วยลูกศรนั้น

ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงดำริว่า สุวรรณสามนี้จะมิได้อยู่อาศัยในป่านี้แต่ผู้เดียวเท่านั้น ญาติทั้งหลายของเขาพึงมีแน่ จักถามเขาดู จึงตรัสอีกว่า

ดูกรพ่อสามะ ท่านมาจากไหนหรือใครใช้ให้ท่านมาตักน้ำ จึงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วกลับมา

พระโพธิสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระราชาแล้ว กลั้นทุกขเวทนาเป็นอันมาก บ้วนโลหิตแล้วกล่าวว่า

มารดาบิดาของข้าพระองค์ตาบอด ข้าพระองค์เลี้ยงท่านทั้งสองนั้นในป่าใหญ่ ข้าพระองค์ไปตักน้ำมาแต่แม่น้ำมิคสัมมตา เพื่อท่านทั้งสองนั้น

อาหารของท่านทั้งสองนั้นยังพอมีอยู่ เมื่อเช่นนั้น ชีวิตของท่านทั้งสองนั้นจักดำรงอยู่เพียง ๖ วัน  ท่านทั้งสองตามืดเห็นจักตายเสียเพราะไม่ได้น้ำ

ความทุกข์เพราะความถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่ ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นมารดาบิดานั้น เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนั้นเสียอีก

มารดาบิดานั้นจักเป็นกำพร้า ร้องไห้อยู่ตลอดราตรีนาน จักเหือดแห้งไปในกึ่งราตรี เหมือนแม่น้ำน้อย จักเหือดแห้งไปในคิมหันตฤดูเป็นแน่

ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เคยหมั่นบีบนวดบนมือและเท้าของท่าน ทั้งสองนั้นจักบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า พ่อสามะๆ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ ความโศกเพราะไม่ได้เห็นท่านทั้งสองนี้แล จะทำหัวใจของข้าพระองค์ให้หวั่นไหว เพราะข้าพระองค์ไม่ได้เห็นท่านทั้งสองผู้ตามืด ข้าพระองค์เห็นจักต้องละชีวิตไป

พระราชาทรงฟังความคร่ำครวญของพระโพธิสัตว์ ทรงคิดว่า บุรุษนี้เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติบิดามารดาอย่างเยี่ยมยอด บัดนี้ได้ความทุกข์ถึงเพียงนี้ ยังคร่ำครวญถึงบิดามารดา เราได้ทำความผิดในบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างนี้ เราควรเล้าโลมเอาใจบุรุษนี้อย่างไรดีหนอ แล้วทรงสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เราตกนรก ราชสมบัติจักทำอะไรได้ เราจักปฏิบัติบิดามารดาของบุรุษนี้ โดยทำนองที่บุรุษนี้ปฏิบัติแล้ว การตายของบุรุษนี้จักเป็นเหมือนไม่ตาย ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสว่า

ดูก่อนสามะผู้งดงามน่าดู ท่านอย่าโศกเศร้าให้มากเลย เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ จักฆ่ามฤคอ้วน ๆ เลี้ยงบิดามารดาของท่าน ด้วยมังสะอันอร่อย ดังนี้

เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์อย่าทำการฆ่าสัตว์เพราะเหตุพวกข้าพระองค์เลย ดังนี้ พระราชาจึงตรัสว่า

ถ้าเช่นนั้นเราจักแสวงหามูล ผลาหารป่ามา ทำการงานเลี้ยงบิดามารดาของท่านในป่าใหญ่ ดูก่อนสามะ ป่าที่บิดามารดาของท่านอยู่ อยู่ที่ไหน เราจักเลี้ยงบิดามารดาของท่าน ให้เหมือนที่ท่านเลี้ยงฉะนั้น

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้สดับพระวาจาของพระราชานั้นแล้วจึงทูลว่าดีแล้วพระเจ้าข้า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดเลี้ยงดูบิดามารดาของข้าพระองค์เถิด เมื่อจะชี้ทางให้ทรงทราบจึงทูลว่า

ข้าแต่พระราชา หนทางที่เดินเฉพาะคนเดียว ซึ่งมีอยู่ทางหัวนอนของข้าพระองค์ เสด็จดำเนินแต่นี้สิ้นระยะกึ่งเสียงกู่  ก็จะเสด็จถึงเรือนที่อยู่แห่งมารดาของข้าพระองค์ ขอเชิญพระองค์เสด็จดำเนินแต่ที่นี้ไปเลี้ยง มารดาบิดาของข้าพระองค์ในสถานที่นั้นเถิด

พระมหาสัตว์ทูลชี้ทางแด่พระราชาอย่างนี้แล้ว กลั้นเวทนาเห็นปานนั้นไว้ด้วยความสิเนหาในบิดามารดาเป็นกำลัง ประคองอัญชลีทูลวิงวอนเพื่อต้องการให้เลี้ยงดูบิดามารดา ได้ทูลอย่างนี้อีกว่า

ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระบาทขอถวายบังคมแด่พระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาผู้ตามืดของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วยเถิด ข้าพระองค์ขอทูลสั่ง ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลาของข้าพระองค์กะบิดามารดาให้ทราบอย่างนี้ด้วยเถิดว่า สามะบุตรของท่านทั้งสอง ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษที่ริมฝั่งแม่น้ำ นอนตะแคงข้างขวาเหนือหาดทรายคล้ายแผ่นเงิน ประคองอัญชลีแก่ท่าน กราบไหว้เท้าทั้งสองของท่าน พระเจ้าข้า

พระราชาทรงรับคำ พระมหาสัตว์ครั้นกล่าวคำนี้แล้วพิษแห่งลูกศรก็ได้ซาบซ่านขึ้นก็ถึงวิสัญญีสลบนิ่งไป

พระมหาสัตว์นั้น เมื่อกล่าวมาได้เพียงเท่านี้ก็ดับอัสสาสะ ไม่ได้กล่าวต่อไปอีกเลย ก็ในกาลนั้น ถ้อยคำที่เป็นไปอาศัยหทัยรูป ซึ่งติดต่อจิตแห่งพระโพธิสัตว์นั้นขาดแล้วเพราะกำลังแห่งพิษซาบซ่าน โอฐของพระโพธิสัตว์ก็ปิด จักษุก็หลับ มือเท้าแข็งกระด้าง ร่างกายทั้งสิ้นเปื้อนโลหิต

ลำดับนั้นพระราชาทรงคิดว่า สุวรรณสามนี้ พูดกับเราอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นอะไรไปหนอจึงทรงพิจารณาตรวจดูลมอัสสาสะปัสสาสะ ของพระโพธิสัตว์ ก็ลมอัสสาสะปัสสาสะดับแล้ว สรีระก็แข็งแล้ว พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น ก็ทรงทราบว่า บัดนี้สุวรรณสามตายแล้วดับแล้ว ไม่ทรงสามารถที่จะกลั้นความโศกไว้ได้ ก็วางพระหัตถ์ไว้บนพระเศียรครวญคร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง.ทรงคร่ำครวญน่าสงสารเป็นอันมากว่า

เราสำคัญว่า จะไม่แก่ไม่ตาย เราได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยาในวันนี้ จึงได้รู้ ความแก่ความตาย แต่ก่อนหารู้ไม่ ความไม่มาแห่งมฤตยูย่อมไม่มี สามบัณฑิตอันลูกศรกำซาบยาพิษซึมซาบแล้ว พูดกะเราอยู่ บัดนี้ ครั้นกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่พูดอะไรๆ เลย เราจะต้องไปสู่นรกเป็นแน่ เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย เพราะว่าบาปอันหยาบช้าอันทำแล้วตลอดราตรีนาน

ในกาลนั้น ถ้าเราทำกรรมอันหยาบช้าในบ้านเมือง ก็จะยังมีคนทั้งหลายมาติเตียนเรา ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้เช่นนี้ ใครเล่าจะควรกล่าวติเตียนเรา คนทั้งหลายประชุมกันในบ้านเมือง จะยังกันและกันให้ระลึกถึงกรรม จะโจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้ ใครเล่าหนอจะ โจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา

กาลนั้น เทพธิดามีนามว่าพสุนธรี อยู่ภูเขาคันธมาทน์ เคยเป็นมารดาของพระมหาสัตว์ย้อนหลังไปในชาติที่เจ็ด ปกติก็จะพิจารณาดูพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจด้วยความสิเนหาในบุตร แต่วันนั้นนางเสวยทิพยสมบัติ มิได้พิจารณาดูพระมหาสัตว์ บางอาจารย์ว่า นางไปสู่เทวสมาคมเสียดังนี้ก็มี

ในเวลาที่พระมหาสัตว์สลบ นางพิจารณาดูว่า ความเป็นไปของบุตรเราเป็นอย่างไรบ้างหนอ ได้เห็นว่าพระเจ้าปิลยักษ์นี้ ยิงบุตรของเราด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ล้มอยู่ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา พร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง ถ้าเราไม่ไป สุวรรณสามบุตรของเราจักพินาศอยู่ในที่นั้น แม้พระหทัยของพระราชาก็จักแตก บิดามารดาของสามะจักอดอาหาร จะไม่ได้น้ำดื่ม จักเหือดแห้งตาย แต่เมื่อเราไป พระราชาจักถือเอาหม้อน้ำดื่มไปสู่สำนักบิดามารดาของสุวรรณสามนั้นแล

ครั้นเสด็จไปแล้วจักรับสั่งว่า บุตรของท่านทั้งสองถูกเราฆ่าเสียแล้ว และทรงสดับคำของท่านทั้งสองนั้นแล้ว จักนำท่านทั้งสองนั้นไปสู่สำนักของสุวรรณสามผู้บุตร เมื่อเป็นเช่นนี้ ดาบสดาบสินีทั้งสอง และเราจักทำสัจจกิริยาพิษของสุวรรณสามก็จักหาย บุตรของเราจักได้ชีวิตคืนมา จักษุทั้งสองข้างของบิดามารดาสุวรรณสามจักแลเห็นเป็นปกติ และพระราชาจักได้ทรงสดับธรรมเทศนาของสุวรรณสาม เสด็จกลับพระนคร ทรงบริจาคมหาทาน ครองราชสมบัติโดยยุติธรรม มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้น เราจะไปในที่นั้น เทพธิดานั้นจึงไปสถิตอยู่ในอากาศโดยไม่ปรากฏกาย ที่ฝั่งมิคสัมมตานที กล่าวเพื่ออนุเคราะห์พระเจ้าปิลยักขราชว่า

ดูกรมหาราชา ได้ยินว่า พระองค์ทำความผิดมาก ได้ทำกรรมอันชั่วช้า มารดาบิดาและบุตรทั้งสามผู้หาความประทุษร้ายมิได้ ถูกพระองค์ฆ่าเสียด้วยลูกศรลูกเดียวกัน ด้วยว่าเมื่อพระองค์ฆ่าสุวรรณสามนั้น แม้บิดามารดาของสุวรรณสาม ก็ย่อมจะตายเสียด้วยเหมือนกัน เชิญเสด็จมานี่เถิด เราจะพร่ำสอนพระองค์ด้วยวิธีที่พระองค์จะได้สุคติ พระองค์จงเลี้ยงดูมารดาบิดาทั้งสองผู้ตามืดนั้นโดยธรรม เราเข้าใจว่าสุคติจะพึงมีแก่พระองค์

พระราชาทรงสดับคำของเทพธิดาแล้วทรงเชื่อว่า เราเลี้ยงบิดามารดาของสุวรรณสามแล้วจักไปสู่สวรรค์ ทรงดำริว่า เราจะต้องการราชสมบัติทำไม เราจักเลี้ยงดูท่านทั้งสองนั้น ทรงตั้งพระหฤทัยมั่นแล้วทรงทำความโศกให้เบาบาง เมื่อเข้าพระหฤทัยว่า สุวรรณสามโพธิสัตว์สิ้นชีพแล้วจึงทรงบูชาสรีระของพระโพธิสัตว์นั้น ด้วยบุปผชาติต่าง ๆ ประพรมด้วยน้ำทำประทักษิณสามรอบ ทรงกราบแล้วถือหม้อน้ำที่พระโพธิสัตว์ใส่ไว้เต็มแล้ว บ่ายพระพักตร์ทางทิศทักษิณเสด็จไปด้วยความโทมนัส

แม้โดยปกติพระราชาเป็นผู้มีพระกำลังมาก ทรงถือหม้อน้ำเข้าไปสู่อาศรมบท ถึงประตูบรรณศาลาของทุกูลบัณฑิต ดุจบุคคลกระแทกอาศรมให้กระเทือน ทุกูลบัณฑิตนั่งอยู่ภายในได้ฟังเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักขราชก็นึกในใจว่า นี้ไม่ใช่เสียงแห่งฝีเท้าสุวรรณสามบุตรเรา เสียงฝีเท้าใครหนอเมื่อจะถามจึงกล่าวว่า

นั่นเสียงฝีเท้าของใครหนอ นี้เป็นเสียงฝีเท้ามนุษย์เดินมาเป็นแน่ เสียง ฝีเท้าของสามบุตรเราไม่ดัง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ สามบุตร เดินเบา วางเท้าเบา เสียงฝีเท้าของสามบุตรเราไม่ดัง ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ

พระราชาได้สดับคำถามนั้น ทรงดำริว่า ถ้าเราไม่บอกความที่เราเป็นพระราชา บอกว่าเราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว ท่านทั้งสองนี้จักโกรธเรา กล่าวคำหยาบกะเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความโกรธในท่านทั้งสองนี้ก็จักเกิดขึ้นแก่เรา ครั้นความโกรธเกิดขึ้น เราก็จักเบียดเบียนท่านทั้งสองนั้น กรรมนั้นจักเป็นอกุศลของเรา แต่เมื่อเราบอกว่าเราเป็นพระราชา ชื่อว่าผู้ที่ไม่เกรงกลัวย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เราจะบอกความที่เราเป็นพระราชาก่อน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ทรงวางหม้อน้ำไว้ที่โรงน้ำดื่ม แล้วประทับยืนที่ประตูบรรณศาลาเมื่อจะแสดงพระองค์ให้ฤๅษีรู้จัก จึงตรัสว่า

เราเป็นพระราชาของชนชาวกาสี ชนทั้งหลายเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักข์ เราละแว่นแคว้นมาเที่ยวแสวงหามฤคเพราะความโลภเนื้อมฤค เราเที่ยวไปในป่าผู้เดียวเท่านั้น

อนึ่ง เราเป็น ผู้ฉลาดในธนูศิลป์ เป็นผู้สามารถโก่งและลดซึ่งธนูอันหนัก คือธนูหนักพันแรงคนยกได้ปรากฏว่าแม่นยำ หนักแน่น แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเรา ก็ไม่พึงพ้นไปได้ถึงเจ็ดก้าว

ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระราชา จึงทูลว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์เป็นผู้ใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้ ข้าแต่พระราชา เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง และ ผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอได้ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดีๆ เถิด ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น อันนำมาแต่แม่น้ำมิคสัมมตานที ซึ่งไหลออกจากซอกเขา ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์

เมื่อดาบสทำปฏิสันถารอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงคิดว่า เราไม่ควรจะบอกว่า เราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว ดังนี้ก่อน ทำเหมือนไม่รู้ พูดเรื่องอะไร ๆ ไปก่อนแล้วจึงบอก ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า

ท่านทั้งสองตามืดไม่สามารถจะเห็นไรๆ ในป่า ใครหนอนำผลไม้มาเพื่อ ท่านทั้งสอง การเก็บผลาผลไว้โดยเรียบร้อยนี้ ปรากฏแก่ข้าพเจ้าเหมือนการเก็บของคนตาดี

ทุกูลบัณฑิตได้ฟังดังนั้น เพื่อจะแสดงว่ามูลผลาผลตนมิได้นำมา แต่บุตรของตนนำมา จึงได้กล่าวว่า

สามะหนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดงดงามน่าดู ผมของเธอยาว ดำ เลื้อยลงไปปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน เธอนั่นแหละนำผลไม้มา ถือหม้อน้ำมา เห็นจะใกล้กลับมาแล้ว ขอเดชะ

พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า

ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่านเสียแล้ว พระคุณเจ้ากล่าวถึง สามกุมารผู้งดงามน่าดูใด ผมของสามกุมารนั้นยาว ดำ เลื้อยลงไป ปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน สามกุมารนั้นข้าพเจ้าฆ่าเสียแล้ว นอนอยู่บนหาดทรายริมฝั่งมิคสัมมตานทีเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต

ก็บรรณศาลาของปาริกาดาบสินีอยู่ใกล้ของทุกูลบัณฑิต นางนั่งอยู่ในบรรณศาลานั้น ได้ฟังพระดำรัสของพระราชา ก็ใคร่จะรู้ประพฤติการณ์นั้นจึงออกจากบรรณศาลาของตน ไปสำนักทุกูลบัณฑิตด้วยสำคัญเชือกที่สำหรับสาวเดินไปได้กล่าวว่า

ข้าแต่ทุกูลบัณฑิต ท่านพูดอยู่กับใครซึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว กิ่งอ่อนแห่งต้นโพอันลมพัดให้หวั่นไหวฉันใด ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว ฉันนั้น

ลำดับนั้น ทุกูลบัณฑิตเมื่อจะโอวาทนางปาริกาดาบสินีนั้น จึงกล่าวว่า

ดูกรนางปาริกา ท่านผู้นี้ คือ พระเจ้ากาสี พระองค์ทรงยิงสามกุมารด้วยลูกศรที่แม่น้ำมิคสัมมตานทีด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นในเพราะมฤคทั้งหลาย เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อพระองค์เลย

ปาริกาดาบสินีกล่าวอีกว่า

บุตรสุดสวาทที่รักอันหาได้ยาก ได้เลี้ยงเราทั้งสองผู้ตามืดอยู่ในป่า ไฉนจะไม่ยังจิตให้โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรสุดที่รักคนเดียวนั้นได้

ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า

บุตรสุดที่รักอันหาได้ด้วยยาก ได้เลี้ยงเราทั้งสองผู้ตามืดอยู่ในป่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรสุดที่รักคนเดียวนั้น

ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ดาบสดาบสินีทั้งสองก็ข้อนทรวงด้วยมือทั้งสอง พรรณนาคุณของพระมหาสัตว์ คร่ำครวญเป็นอันมาก

ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักขราชเมื่อจะทรงเล้าโลมเอาใจดาบสทั้งสองนั้นจึงตรัสว่า

พระคุณเจ้าทั้งสองอย่าคร่ำครวญให้มากไปเลย ข้าพเจ้าจักยอมทำงานเลี้ยงดูพระคุณเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำ หนักแน่น จักยอมทำการงานเลี้ยงดูพระคุณเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่ ข้าพเจ้าจักแสวงหาสิ่งของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ และมูลมันผลไม้ในป่า ยอมทำการงานเลี้ยงพระคุณเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่

ลำดับนั้น ฝ่ายดาบสดาบสินีทั้งสองนั้นสนทนากับพระราชา ทูลว่า

ดูกรมหาราชเจ้า เหตุนั้นไม่สมควร การทรงทำการงานนั้นไม่สมควร ในอาตมาทั้งสองพระองค์เป็นพระราชาของอาตมาทั้งสอง อาตมาทั้งสองขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์

ก็ดาบสดาบสินีทั้งสองนั้นตั้งอยู่ในเพศบรรพชิต ทูลพระราชาดังนี้เพราะความโศกในบุตรครอบงำ และเพราะไม่มีมานะ

พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีเหลือเกิน ทรงดำริว่า โอน่าอัศจรรย์ แม้เพียงคำหยาบของฤๅษีทั้งสองนี้ ก็ไม่มีในเราผู้ทำความประทุษร้ายถึงเพียงนี้ กลับยกย่องเราเสียอีก จึงตรัสอย่างนี้ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เชื้อชาติเนสาท พระคุณเจ้ากล่าวเป็นธรรม พระคุณเจ้าบำเพ็ญ การถ่อมตน  ขอพระคุณเจ้าจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณเจ้าจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าก็จักตั้งอยู่ในฐานะแห่งสามกุมารบุตรของท่าน กระทำกิจทุกอย่างมีล้างเท้าเป็นต้น ขอท่านทั้งสองจงอย่ากำหนดข้าพเจ้าว่าเป็นพระราชา จงกำหนดว่าเหมือนสามกุมารเถิด

ดาบสทั้งสองประคองอัญชลีไหว้ เมื่อจะทูลวิงวอนว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ไม่มีหน้าที่ที่จะทำการงานแก่อาตมาทั้งสอง แต่ขอพระองค์จงทรงถือปลายไม้เท้าของอาตมาทั้งสองนำไปแสดงตัวสุวรรณสามเถิด จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมาทั้งสองขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดพาอาตมา ทั้งสองไปให้ถึงที่ที่สามกุมารนอนอยู่เถิด  อาตมาทั้งสองจะสัมผัสเท้าทั้งสอง และดวงหน้าอันงดงามผุดผ่องของเธอและทรมานตนให้ถึงกาลกิริยา

เมื่อท่านเหล่านั้นสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระอาทิตย์ก็อัสดงคต ลำดับนั้นพระราชาทรงดำริว่า ถ้าเรานำฤๅษี ทั้งสองผู้ตามืดไปในสำนักของสุวรรณสามในบัดนี้ทีเดียว หทัยของฤๅษีทั้งสองจักแตกเพราะเห็นสุวรรณสามนั้น เราก็ชื่อว่านอนอยู่ในนรก ในกาลที่ท่านทั้งสามทำกาลกิริยา ด้วยประการฉะนี้เพราะฉะนั้น เราจักไม่ให้ฤๅษีทั้งสองนั้นไป ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสว่า

สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ที่ป่าใด ดุจดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ตกลงเหนือแผ่นดินแล้ว เกลือกเปื้อน ด้วยฝุ่นทราย ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาล มฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ ผู้เป็นเจ้าทั้งสองจง อยู่ในอาศรมนี้แหละ

ลำดับนั้น ฤๅษีทั้งสองได้กล่าวเพื่อจะแสดงว่า ตนไม่กลัวพาลมฤคทั้งหลายว่า

ถ้าในป่านั้นจะมีพาลมฤคนับด้วยร้อย นับด้วยพันและนับด้วยหมื่นไซร้ อาตมาทั้งสองไม่มีความกลัวในพาลมฤคทั้งหลายในป่าไหนๆ เลย

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อไม่อาจห้ามฤๅษีทั้งสองนั้น ก็ทรงจูงมือนำไปในสำนักสุวรรณสามนั้น.ครั้นทรงนำไปแล้ว ประทับยืนในที่ใกล้สุวรรณสามแล้วตรัสว่า นี้บุตรของผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ลำดับนั้น ฤๅษีผู้เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ช้อนเศียรขึ้นวางไว้บนตัก ฤๅษิณีผู้เป็นมารดาก็ยกเท้าขึ้นวางไว้บนตักของตนนั่งบ่นรำพันอยู่

ดาบสดาบสินีทั้งสองเห็นสามกุมารผู้เป็นบุตร นอนเกลือกเปื้อนฝุ่นทราย ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ดุจดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ตกเหนือแผ่นดิน ก็ปริเทวนาการน่าสงสาร ประคองแขนทั้งสองร้องไห้ว่า ความอยุติธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้ในวันนี้.พ่อสามผู้งามน่าดู พ่อมาหลับเอาจริง ๆ เคลิบเคลิ้มเอามากมายดั่งคนดื่มสุราเข้ม ขัดเคืองใครเอาใหญ่ ถือตัวมิใช่น้อย ในเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ พ่อไม่พูดอะไร ๆ บ้างเลย พ่อสามนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว บัดนี้ใครเล่าจักชำระชฎาอันหม่นหมองเปื้อนฝุ่นละออง ใครเล่า จักจับคราดกวาดอาศรมของเราทั้งสอง ใครเล่าจักจัดน้ำเย็นและน้ำร้อนให้อาบ ใครเล่าจักให้เราทั้งสองได้ บริโภคมูลผลาหารในป่า ลูกสามะนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว

ลำดับนั้น ฤๅษิณีผู้มารดาแห่งพระโพธิสัตว์ เมื่อบ่นเพ้อเป็นหนักหนาก็เอามืออังที่อกพระโพธิสัตว์พิจารณาความอบอุ่น คิดว่า ความอบอุ่นของบุตรเรายังเป็นไปอยู่ บุตรเราจักสลบด้วยกำลังยาพิษ เราจักกระทำสัจจกิริยาแก่บุตรเรา เพื่อถอนพิษออกเสีย คิดฉะนี้แล้วได้กระทำสัจจกิริยาว่า

ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติมาแต่กาลก่อน ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติมาแต่กาลก่อน ได้เป็นผู้กล่าวคำสัตย์มาแต่กาลก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา โดยความจริงใด ๆ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่บิดาของเธอมีอยู่ ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป

เมื่อมารดาทำสัจจกิริยาอย่างนี้ สามกุมารก็พลิกตัวกลับ แล้วนอนต่อไป ลำดับนั้น บิดาคิดว่า ลูกของเรายังมีชีวิตอยู่ เราจักทำสัจจกิริยาบ้าง จึงได้ทำสัจจกิริยาอย่างนั้นบ้างว่า

ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติ ได้เป็นผู้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา โดยความจริงใด ๆ ด้วย การกล่าวความจริงนั้น ๆ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่มารดาของเธอมีอยู่ ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป

เมื่อบิดาทำสัจจกิริยาอยู่อย่างนี้ พระมหาสัตว์พลิกตัวอีกข้างหนึ่งนอนต่อไป ลำดับนั้น เทพธิดาผู้มีนามว่าพสุนธรีได้ทำสัจจกิริยาลำดับที่สามด้วยความเอ็นดูสามกุมารว่า

เราเคยอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน ไม่มีใครอื่นจะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป ป่าทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป เมื่อดาบสทั้งสองบ่นเพ้อรำพันน่าสงสารเป็นอันมาก ขอสามกุมารผู้ยังหนุ่มแน่น งามน่าดู จงลุกขึ้นเร็วพลัน

ในกาลที่เทพธิดาทำสัจจกิริยาจบลง ความเจ็บป่วยของสามกุมารนั้นได้คลายหายไปเหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว ไม่ปรากฏแผลที่ถูกยิงว่า ถูกยิงตรงนี้ ถูกยิง ณ ที่นี้

อัศจรรย์ทั้งปวงคือ พระมหาสัตว์หายโรค ฤๅษีผู้เป็นบิดามารดาได้ดวงตากลับเห็นเป็นปกติ แสงอรุณขึ้น และท่านทั้งสี่เหล่านั้นปรากฏที่อาศรมได้มีขึ้นในขณะเดียวกันทีเดียว บิดามารดาทั้งสองได้ดวงตาดีเป็นปกติแล้วยินดีอย่างเหลือเกินว่า ลูกสามะหายโรค ลำดับนั้น สามบัณฑิตได้กล่าวกะท่านเหล่านั้นด้วยคาถานี้ว่า

ข้าพเจ้าผู้มีนามว่าสามะ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยสวัสดี ขอท่านทั้งหลายอย่าคร่ำครวญนักเลย จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์แลเห็นพระราชาเมื่อจะทูลปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นใหญ่มาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้ ข้าแต่พระราชา เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง และผลหมาก เม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอได้ทรงเสวยแต่ที่ดีๆ เถิด ข้าแต่มหาราชเจ้า น้ำเย็นที่ข้าพระองค์นำมาแต่น้ำมิคสัมมตานทีมีอยู่ เชิญพระองค์ดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์

ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า

ฉันหลงเอามาก หลงเอาจริงๆ หลงไปทั่วทิศ ฉันได้เห็นสามะผู้กระทำกาลกิริยา ท่านกลับเป็นขึ้นมาได้อย่างไรหนอ

ฝ่ายสามบัณฑิตดำริว่า พระราชาทรงกำหนดเราว่าตายแล้ว เราจักประกาศความที่เรายังไม่ตายแก่พระองค์ จึงทูลว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญบุรุษผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้เสวยเวทนาอย่างหนัก มีความดำริในใจเข้าไปใกล้แล้ว ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว ข้า แต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญบุรุษผู้ยังมีชีวิตอยู่เสวยเวทนากล้า ถึง ความดับสนิท ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว

ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ประสงค์จะประกอบพระราชาไว้ในประโยชน์ เมื่อแสดงธรรมจึงได้กล่าวต่อไปอีกว่า

บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม  แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

พระราชาได้สดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอ แม้เทวดาทั้งหลายก็เยียวยาโรคที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดา สามบัณฑิตนี้งดงามเหลือเกิน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ประคองอัญชลีตรัสว่า

เพราะฉันได้ทำผิดในผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเช่นท่าน ฉะนั้นฉันหลงเอามากเหลือเกิน มืดไปทั่วทิศ ดูกรสามะ ฉันขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะของฉัน

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์เสด็จสู่เทวโลก มีพระประสงค์บริโภคทิพยสมบัติใหญ่ จงทรงประพฤติในทศพิธราชธรรมจรรยาเหล่านี้เถิด เมื่อจะถวายโอวาทแด่พระราชาจึงได้กล่าวคาถาอันว่าด้วยการประพฤติทศพิธราชธรรมว่า

ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและ พระชนกเถิด   ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่ สวรรค์

ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระ โอรสและพระมเหสี ... ในมิตรและอำมาตย์ ... ในพาหนะ ... และพลนิกาย ... ในชาวบ้านและชาวนิคม ... ในชาวแว่นแคว้นและชาวชนบท ... ในสมณะ และพราหมณ์ ... ในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด ธรรมอันพระองค์ทรงประพฤติแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้  ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์

ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด พระอินทร์ เทพเจ้าพร้อมทั้งพรหม ถึงแล้วซึ่งทิพยสถาน เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรม

ก็เนื้อความของคาถาเหล่านี้ มีกล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในสกุณชาดกนั้นแล

พระมหาสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถวายโอวาทยิ่งขึ้น ได้ถวายเบญจศีล พระราชาทรงรับโอวาทของพระมหาสัตว์นั้นด้วยพระเศียร ทรงไหว้พระโพธิสัตว์ ขอขมาโทษพระโพธิสัตว์แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีทานเป็นต้น ทรงรักษาเบญจศีล ครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ ในที่สุดแห่งพระชนม์ ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดา ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดพร้อมด้วยบิดามารดา มิได้เสื่อมจากฌาน ในที่สุดแห่งอายุได้เข้าถึงพรหมโลกพร้อมด้วยบิดามารดานั้นแล

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจสี่ ในเวลาเทศนาอริยสัจสี่จบลง ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาปิลยักขราช ในกาลนั้นกลับชาติมาเป็นภิกษุชื่ออานนท์ในกาลนี้ พสุนธรีเทพธิดาเป็นภิกษุณีชื่ออุบลวรรณา ท้าวสักกเทวราชเป็นภิกษุชื่ออนุรุทธะ ทุกูลบัณฑิตผู้บิดาเป็นภิกษุชื่อมหากัสสปะ นางปาริกาผู้มารดาเป็นภิกษุณีชื่อภัททกาปิลานี ก็สุวรรณสามบัณฑิตคือเราผู้สัมมาสัมพุทธะนี้เองแล

คติธรรม : บำเพ็ญเมตตาบารมี
ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้
 
Visitors: 116,085