เตมีย์ชาดก

ทศชาติชาดก เรื่องเตมีย์ชาดก

บำเพ็ญ เนกขัมมบารมี

 

 

พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ากาสิกราช ครองเมืองชื่อว่า พาราณสี มีพระมเหสี พระนามว่า จันทรเทวี พระราชาไม่มีพระราชโอรสที่จะครองเมืองต่อจากพระองค์ จึงโปรดให้ พระนางจันทรเทวีทำพิธีขอพระโอรสจากเทพเจ้า พระนางจันทรเทวีจึงทรงอธิษฐานว่า
"ข้าพเจ้าได้รักษาศีล บริสุทธิ์ตลอดมา ขอให้บุญกุศลนี้บันดาลให้ข้าพเจ้ามีโอรสเถิด" ด้วยอานุภาพแห่งศีลบริสุทธิ์ พระนางจันทรเทวีทรงครรภ์ และประสูติพระโอรสสมดังความปราถนา พระโอรส มีรูปโฉม งดงามยิ่งนัก ทั้งพระราชาพระมเหสี และประชาชนทั้งหลาย มีความยินดีเป็นที่สุด พระราชาจึงตั้งพระนามโอรสว่า เตมีย์ แปลว่า เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย บรรดาพราหมณ์ผู้รู้วิชาทำนายลักษณะบุคคล ได้กราบทูล พระราชาว่า พระโอรสองค์นี้มีลักษณะประเสริฐ เมื่อเติบโตขึ้น จะได้เป็นพระราชาธิราชของมหาทวีปทั้งสี่ พระราชาทรงยินดี เป็นอย่างยิ่ง และทรงเลือกแม่นมที่มีลักษณะดีเลิศตามตำรา จำนวน 64 คน เป็นผู้ปรนนิบัติเลี้ยงดูพระเตมีย์กุมาร วันหนึ่ง พระราชาทรงอุ้มพระเตมีย์ไว้บนตัก ขณะที่กำลัง พิพากษาโทษผู้ร้าย 4 คน พระราชาตรัสสั่งให้เอาหวาย ที่มีหนามแหลมคมมาเฆี่ยนผู้ร้ายคนหนึ่ง แล้วส่งไปขังคุก ให้เอาฉมวกแทงศีรษะผู้ร้ายคนที่สาม และให้ใช้หลาว เสียบผู้ร้ายคนสุดท้าย

   พระเตมีย์ซึ่งอยู่บนตักพระบิดาได้ยินคำพิพากษาดังนั้น ก็มีความตกใจหวาดกลัว ทรงคิดว่า
"ถ้าเราโต ขึ้นได้เป็นพระราชา เราก็คงต้องตัดสินโทษผู้ร้ายบ้างและคงต้องทำบาป เช่นเดียวกันนี้ เมื่อเราตายไป ก็จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน"
   เนื่องจากพระเตมีย์เป็นผู้มีบุญ จึงรำลึกชาติได้และทรงทราบว่า ในชาติก่อนได้เคยเป็นพระราชาครองเมือง และได้ตัดสินโทษ ผู้ร้ายอย่างเดียวกันนี้ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์จึงต้องตกนรก อยู่ถึง 7,000 ปี ได้รับความทุกข์ทรมาณเป็นอันมาก พระเตมีย์ทรงมีความหวาดกลัวอย่างยิ่ง ทรงรำพึงว่า
   "ทำอย่างไร หนอ เราจึงจะไม่ต้องทำบาป และไม่ต้องตกนรกอีก"
ขณะนั้นเทพธิดาที่รักษาเศวตฉัตรได้ยินคำรำพึงของพระเตมีย์ จึงปรากฏกายให้พระองค์เห็นและแนะนำพระเตมีย์ว่า
   "หากพระองค์ทรงหวั่นที่จะกระทำบาป ทรงหวั่นเกรงว่าจะตกนรก ก็จงทำเป็น หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเปลี้ย อย่าให้ชนทั้งหลาย รู้ว่าพระองค์เป็นคนฉลาด เป็นคนมีบุญ พระองค์ จะต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนอย่างใดก็ต้องแข็งพระทัย ต้องทรงต่อสู้ กับพระทัย ตนเองให้จงได้ อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาชักจูงใจ พระองค์ไปจากหนทางที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้"
   
พระเตมีย์กุมารได้ยินเทพธิดาว่าดังนั้น ก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ต่อไปนี้ เราจะทำตนเป็นคนใบ้ หูหนวก และง่อยเปลี้ย ไม่ว่าจะมีเรื่องอันใดเกิดขึ้น เราก็จะ ไม่ละความตั้งใจเป็นอันขาด"

   นับแต่นั้นมา พระเตมีย์ก็ทำพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อย ไม่ร้อง ไม่พูด ไม่หัวเราะ และไม่เคลื่อนไหว ร่างกายเลย พระราชาและพระมเหสีทรงมีความวิตกกังวล ในอาการของพระโอรส ตรัสสั่งให้พี่เลี้ยงและแม่นมทดลอง ด้วยอุบายต่างๆ เช่น ให้อดนม พระเตมีย์ก็ทรงอดทน ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงความหิวโหย ครั้นพระราชาให้พี่เลี้ยง เอาขนมล่อ พระเตมีย์ก็ไม่สนพระทัย นิ่งเฉยตลอดเวลา พระราชาทรงมีความหวังว่า พระโอรสคงไม่ได้หูหนวก เป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยจริง จึงโปรดให้ทดลอง ด้วยวิธีต่างๆ เป็นลำดับ เมื่ออายุ 2 ขวบ เอาผลไม้มาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย อายุ 4 ขวบ เอาของเสวยรสอร่อยมาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย อายุ 5 ขวบ พระราชาให้เอาไฟมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่แสดงความ ตกใจกลัว อายุ 6 ขวบ เอาช้างมาขู่ อายุ 7 ขวบ เอางูมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่หวาดกลัว ไม่ถอยหนีเหมือนเด็กอื่นๆ พระราชาทรงทดลองด้วยวิธีการต่างๆเรื่อยมา จนพระเตมีย์ อายุได้ 16 พรรษา ก็ไม่ได้ผล พระเตมีย์ยังทรงทำเป็นหูหนวก ทำเป็นใบ้ และไม่เคลื่อนไหวเลย ตลอดเวลา 16 ปี

   ในที่สุด พระราชาก็ให้หาบรรดาพราหมณ์และที่ปรึกษาทั้งหลายมาและตรัสถามว่า
"พวกเจ้าเคยทำนายว่า ลูกเราจะเป็น ผู้มีบุญ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อลูกเรามีอาการเหมือนคน หูหนวก เป็นใบ้ และเป็น ง่อยเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี"
พราหมณ์และที่ปรึกษาพากันกราบทูลว่า

   "เมื่อตอนที่ประสูตินั้นพระโอรส มีลักษณะเป็นผู้มีบุญ แต่บัดนี้ เมื่อได้กลับกลายเป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย ก็กลายเป็นกาลกิณีจะ ทำให้บ้านเมืองและประชาชนเดือดร้อน ขอให้พระองค์สั่งให้นำพระโอรสไปฝังที่ป่าช้าเถิดพะย่ะค่ะ จะได้สิ้นอันตราย"

   พระราชาได้ยินดังนั้นก็ทรงเศร้าพระทัยด้วยความรักพระโอรส แต่ก็ไม่อาจแก้ไขอย่างไรได้ เพราะเป็น ห่วงบ้านเมืองและ ประชาชน จึงต้องทรงทำตามคำกราบของพราหมณ์และ ที่ปรึกษาทั้งหลาย พระนางจันทเทวีทรงทราบว่า พระราชาให้นำ พระโอรสไปฝังที่ป่าช้า ก็ทรงร้องไห้คร่ำครวญว่า
   "พ่อเตมีย์ลูกรัก ของแม่ แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนใบ้ ลูกอย่าทำอย่างนี้เลย แม่เศร้าโศกมา ตลอดเวลา 16 ปีแล้ว ถ้าลูกถูกนำไปฝัง แม่คงเศร้าโศกจนถึงตายได้นะลูกรัก"

   พระเตมีย์ได้ยินดังนั้นก็ทรงสงสารพระมารดาเป็นอันมาก ทรงสำนึกในพระคุณของพระมารดา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรำลึกว่า พระองค์ตั้งพระทัยไว้ว่า จะไม่ทำการใดที่จะทำให้ต้องไปสู่นรกอีก จะไม่ทรงยอมละความตั้งใจที่จะทำเป็นใบ้ หูหนวก และเป็นง่อย จะไม่ยอมให้สิ่งใดมาชักจูงใจพระองค์ ไปจากหนทางที่ทรงวางไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

   พระราชาจึงตรัสสั่งให้นายสารถีชื่อ สุนันทะ นำพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้า พาไปที่ป่าช้าผีดิบ ให้ขุดหลุมแล้วเอาพระเตมีย์โยนลงไปในหลุมเอาดินกลบเสียให้ตาย นายสุนันทะจึงทรงอุ้มพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้าพาไปที่ป่าช้าผีดิบเมื่อไปถึงป่าช้านายสุนันทะก็เตรียม ขุดหลุมจะฝังพระเตมีย์ พระเตมีย์กุมารประทับอยู่บนราชรถ ทรงรำพึงว่า


   "บัดนี้เราพ้นจากความทุกข์ ว่าจะต้องเป็นพระราชา พ้นความทุกข์ว่า จะต้องทำบาป เราได้อดทนมาตลอดเวลา 16 ปี ไม่เคยเคลื่อน ไหวร่างกายเลย เราจะลองดูว่า เรายังคงเคลื่อนไหวได้หรือไม่ มีกำลังร่างกายสมบูรณ์หรือไม่"

   รำพึงแล้ว พระเตมีย์ก็เสด็จลงจากราชรถ ทรงเคลื่อนไหว ร่างกาย ทดลองเดินไปมา ก็ทราบว่า ยังคงมีกำลังร่างกาย สมบูรณ์เหมือนคนปกติ จึงทดลองยกราชรถ ก็ปรากฏว่าทรงมีกำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง ได้อย่างง่ายดาย จึงทรงเดินไปหา นายสุนันทะที่กำลังก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่ พระเตมีย์ตรัสถาม นายสุนันทะว่า
   "ท่านเร่งรีบขุดหลุมไปทำไม"
นายสุนันทะตอบ คำถามโดยไม่ได้เงยหน้าขึ้นดูว่า
   "เราขุดหลุมจะฝังพระโอรส ของพระราชา เพราะพระโอรสเป็นง่อย เป็นใบ้ และหูหนวก พระราชาตรัสสั่งให้ฝัง เสีย จะได้ไม่เป็นอันตรายแก่บ้านเมือง"
พระเตมีย์จึงตรัสว่า
   "เราไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้หูหนวก และไม่ง่อยเปลี้ย จงเงยขึ้นดูเราเถิด ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็จะประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"

   นายสารถีเงยขึ้นดู เห็นพระเตมีย์ก็จำไม่ได้ จึงถามว่า
   "ท่านเป็นใคร ท่านมีรูปร่าง งามราวกับเทวดา ท่านเป็นเทวดาหรือ หรือว่าเป็นมนุษย์ ท่านเป็นลูกใคร ทำอย่างไร เราจึงจะรู้จักท่าน"

   พระเตมีย์ตอบว่า
   "เราคือเตมีย์กุมาร โอรสพระราชา ผู้เป็นนายของท่าน ถ้าท่านฝังเราเสียท่านก็จะได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พระราชาเปรียบเหมือนต้นไม้ ตัวเราเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ท่านได้อาศัยร่มเงาไม้ ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็ได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม นายสารถียังไม่เชื่อว่าเป็นพระกุมารที่ตนพามา พระเตมีย์ทรง ประสงค์จะให้นายสารถีเชื่อ จึงตรัสอธิบาย ให้เห็นว่าหาก นายสารถีจะฝังพระองค์ก็ได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร ทรงอธิบายว่า "ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะไปที่ได ก็มีคนคบหามาก จะไม่อดอยาก ไปที่ใดก็มีผู้สรรเสริญบูชา โจรจะไม่ข่มเหง พระราชาไม่ดูหมิ่น จะเอาชนะศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร เมื่อมาถึงบ้านเรือนของตน หมู่ญาติและประชาชน จะพากันชื่นชมยกย่อง ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมได้รับการสักการะ เพราะเมื่อสักการะท่านแล้ว ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพบูชาท่านแล้ว ย่อมได้รับการเคารพตอบ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรืองเหมือนกองไฟรุ่งโรจน์ ดังเทวดา เป็นผู้มีมิ่งขวัญสิริมงคลประจำตนอยู่เสมอ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะทำการใดก็สำเร็จผล โคจะมีลูกมาก หว่านพืชลงในนา ก็จะงอกงาม แม้จะพลัดตกเหว ตกจากภูเขา ตกจากต้นไม้ ก็จะไม่เป็นอันตราย ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ศัตรูไม่อาจข่มเหงได้ เพราะเป็นผู้มีมิตรมาก เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่มีราก ติดต่อพัวพัน ลมแรงก็ไม่อาจทำร้ายได้ "

   นายสารถีได้ยินพระเตมีย์ตรัส ยิ่งเกิดความสงสัย จึงเดินมาดูที่ราชรถ ก็ไม่เห็นพระกุมารที่ตนพามา ครั้นเดิน กลับมาพินิจพิจารณาพระเตมีย์อีกครั้งก็จำได้ จึงทูลว่า "ข้าพเจ้าจะพาพระองค์กลับวัง ขอเชิญเสด็จกลับไป ครองพระนครเถิด"

    พระเตมีย์ตรัสตอบว่า
" เราไม่กลับไปวัง อีกแล้ว เราได้ตัดขาดจากความ ยินดีในสมบัติทั้งหลาย เราได้ตั้งความอดทนมาเป็นเวลาถึง 16 ปี อันราชสมบัติ ทั้ง พระนครและความสุข ความรื่นเริงต่างๆ เป็นของน่าเพลิดเพลิน แต่าเราไม่ปรารถนาจะหลงอยู่ในความเพลิดเพลินนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำบาปอีก เราจะไม่ก่อเวรให้เกิดขึ้นอีกแล้ว บัดนี้เราพ้นจากภาระนั้นแล้ว เพราะพระบิดาพระมารดา ปล่อยเราให้พ้นจากราชสมบัติมาแล้ว เราพ้นจากความหลงใหล ในกิเลสทั้งหลาย เราจะขอบวชอยู่ในป่านี้แต่ลำพัง เราต่อสู้ได้ชัยชนะในจิตใจของเราแล้ว"

   เมื่อตรัสดังนั้น พระเตมีย์กุมารมีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง รำพึงกับพระองค์เองว่า
"ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี"

   นายสุนันทะสารถีได้ฟังก็เกิดความยินดี ทูลพระเตมีย์ว่า จะขอบวชอยู่กับพระเตมีย์ในป่า แต่พระองค์ เห็นว่า หากนายสารถีไม่กลับไปเมือง จะเกิดความสงสัยว่าพระองค์ หายไปไหน ทั้งนายสารถี ราชรถ เครื่องประดับทั้งปวงก็สูญหายไป ควรที่นายสารถีจะนำสิ่งของทั้งหลายกับไปพระราชวัง ทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมา บวชเมื่อหมดภาระ นายสุนันทะจึงกลับไปกราบทูลพระราชาว่า พระเตมีย์กุมาร มิได้วิกลวิการ แต่ทรงมีรูปโฉมงดงามและ ตรัสได้ไพเราะ เหตุที่แสร้งทำเป็นคนพิการก็เพราะไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติ ไม่ปรารถนาจะก่อ เวรทำบาปอีกต่อไป

   เมื่อพระราชาและพระมเหสีได้ทรงทราบ ก็ทรงปลื้มปิติยินดี โปรดให้จัดกระบวนไปรับพระเตมีย์กลับจากป่า ขณะนั้น พระเตมีย์ทรงผนวชแล้ว ประทับอยู่ในบรรณศาลาซึ่งเทวดา เนรมิตไว้ให้ เมื่อพระบิดา พระมารดาเสด็จไปถึง พระเตมีย์จึงเสด็จมาต้อนรับ ทักทายปราศรัยกันด้วยความยินดี พระราชาเห็นพระโอรสผนวชเป็นฤาษี เสวยใบไม้ลวก เป็นอาหาร และประทับอยู่ลำพังในป่า จึงตรัสถามว่าเหตุใด จึงยังมีผิวพรรณผ่องใส ร่างกายแข็งแรง พระเตมีย์ตรัส ตอบพระบิดาว่า "อาตมามีร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส เพราะไม่ต้องเศร้าโศกถึงอดีต ไม่ต้องรอคอยอนาคต อาตมาใช้ชีวิตให้เป็นไปตามที่สมควรในปัจจุบัน คนพาลนั้นย่อมซูบซีดเพราะมัวโศกเศร้าถึงอดีต เพราะมัวรอคอยอนาคต"

    พระราชาตรัสตอบว่า
"ลูกยังหนุ่มยังแน่นแข็งแรง จะมามัวอยู่ทำอะไรในป่า กลับไปบ้านเมืองเถิดกลับ ไปครองราชสมบัติ มีโอรสธิดา เมื่อชราแล้วจึงค่อยมาบวช"

   พระเตมีย์ตรัสตอบว่า "การบวชของคนหนุ่มย่อมเป็นที่สรรเสริญ ใครเล่าจะนอนใจได้ว่ายังเป็นหนุ่ม ยังอยู่ไกลจากความตาย อายุคนนั้นสั้นนัก เหมือนอายุของปลาในเวลาที่น้ำน้อย"

    พระราชาตรัสขอให้พระเตมีย์กลับไปครองราชสมบัติ ทรงกล่าวชักชวนให้นึกถึงความสุขสบายต่างๆ พระเตมีย์จึงตรัสตอบว่า "วันคืนมีแต่จะล่วงเลยไป ผู้คนมีแต่ จะแก่ เจ็บและตาย จะเอาสมบัติไปทำอะไร ทรัพย์สมบัติและ ความสุขทั้งหลายเอาชนะความตายไม่ได้ อาตมาพ้นจาก ความผูกพันทั้งหลายแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติอีกแล้ว"

   เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น จึงเห็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง ในการออกบวช ทรงประสงค์ที่จะละทิ้งราชสมบัติออกบวช พระมเหสี และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวง รวมทั้งบรรดา ประชาชนทั้งหลายในเมืองพาราณสี ก็พร้อมใจกันออกบวช บำเพ็ญเพียรโดยทั่วหน้ากัน เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ พ้นจากความผูกพัน ในโลกมนุษย์ ทั้งนี้เป็นด้วยพระเตมีย์กุมาร ทรงมีความอดทนมีความตั้งใจ อันมั่นคงแน่วแน่ในการที่ไม่ก่อเวร ทำบาป ทรงมุ่งมั่นอดทน จนประสบผลสำเร็จดังที่หวัง เหมือนดังที่ทรงรำพึงว่า  " ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี "

คติธรรม : บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
เมื่อมีประสงค์ในสิ่งใดก็สมควรมุ่งมั่นตั้งใจกระทำตามความมุ่งหมายนั้นอย่างหนักแน่น อดทนอย่างเพียรพยายามเป็นที่สุด และความพากเพียรอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่นั้นย่อมนำบุคคลนั้นนไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
 
Visitors: 116,085